การา ลามะ นอรา ริมโปเช | พระมหาคณาจารย์จีน ธรรมสมาธิวัตรฯ (เจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ) |
พระมหาวัชราจารย์ เคนโป โซนัม ทอปเกียล ริมโปเช |
สมเด็จพักชก ริมโปเช |
---|

นอรา ริมโปเช (พ.ศ. 2419-2479) มีนามซึ่งชาวคามเรียกขานกันว่า การา ลามะ เกิดที่เมืองเคซุง ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของพระอารามริโวเชในแคว้นคามตะวันออก ครอบครัวของท่านอยู่ในตระกูลเดียวกับท่านการ่าซังอันทรงเกียรติ ซึ่งได้รับสืบทอดจากท่านการ่า เคมปา พระราชครูของพระเจ้าซงจันกัมโป กษัตริย์แห่งทิเบต ในวัยเด็กมีชื่อว่า โซนัม รับเตน เมื่อออกบวชจึงได้รับฉายา ทินเล เจียมโช ลามะ ได้ศึกษาบำเพ็ญกับพระอาจารย์ริโวเช ครุปทอปเชนโป หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า มหาสิทธา ดรุปวัง โจริงซิน ณ ถ้ำกูรูลุง อยู่หลายปีจนสำเร็จได้เป็นผู้สืบทอดพระธรรมของท่าน
เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นในทิเบตช่วงนั้นมีผลทำให้ ทินเล เจียมโชลามะ ต้องเผชิญกับชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างหนักจนสุดท้ายต้องหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจีน ในช่วงที่พำนักอยู่ในประเทศจีนระหว่างปี พ.ศ. 2467-5479 เป็นเวลากว่า 12 ปี ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนของพุทธศาสนาทิเบตสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางและประกอบพิธีพุทธมนตราภิเษกแก่ลูกศิษย์หลายหมื่นคน จนมีสถานธรรมต่างๆเกิดขึ้นทั่วประเทศจีน และมีลูกศิษย์ผู้บรรลุธรรมทั้งในและนอกระเทศเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น อาจารย์โยคีเชน อาจารย์อื่มหยุ่นกง ท่านโพธิ์แจ้งมหาเถระ และอื่นๆอีกหลายท่าน จนปัจจุบันนี้ยังมีลูกศิษย์ที่ยึดการปฏิบัติและคำสอนของวัดริโวเชอย่างไม่ขาดสายอยู่ทุกแห่งหนทั่วโลก

พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร โพธิ์แจ้งมหาเถระ (พ.ศ. 2444-2529) อดีตเจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกายรูปที่ 6 แห่งประเทศไทย เป็นพระสงฆ์ศิษย์เอกของท่านนอรา ริมโปเช จากวัดริโวเช แคว้นคาม ทิเบตตะวันออก เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เป็นบุตรในตระกูลอึ้ง บิดาเป็นข้าราชการขุนพลทหารชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์แมนจู มารดามีความเคร่งครัดศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ก่อนบรรพชา ท่านรับราชการเป็นนายทหารคนสนิทของอดีตประธานาธิปดีเจียง ไค เช็ค
ด้วยบุญวาสนาที่มีมาแต่เดิม ท่านได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2470 ขณะเมื่อมีอายุ 26 ปีและได้ออกบรรพชา ณ วัดเช็งจุ้ยหยี่ ถ้ำประทุน จังหวัดสระบุรี มีฉายาว่า "โพธิ์แจ้ง" และในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้เดินทางกลับประเทศจีนเพื่อเข้ารับการอุปสมบท ณ วัดญาณสถิตย์ (อารามฮุ่ยกื่อยี่) บนเขาป๋อฮั้วซัว มณฑลกังโชว และในปีเดียวกันนี้ ท่านได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านนอรา ริมโปเช รองสังฆราชแห่งวัดริโวเชในทิเบต ซึ่งเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองในช่วงขณะนั้นมีความจำเป็นต้องลี้ภัยมาอยู่ในประเทศจีนและได้เผยแผ่พระธรรมขั้นสูงของศาสนาพุทธทิเบตแก่สาธารณชนชาวจีนอย่างกว้างขวาง เมื่อพบกันครั้งแรก ท่านนอรา ริมโปเช ได้กล่าวไว้ว่า ท่านโพธิ์แจ้งเป็นนิรมาณกายของคุรุนาคราชุน กลับมาเกิดใหม่เนื่องจากมีภารกิจหน้าที่ในการจรรโลงพระพุทธศาสนามหายานในประเทศไทย จึงได้ทำพุทธมนตราภิเษกและถ่ายทอดคำสอนศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดให้ อีกทั้งยังแต่งตั้งให้เป็นวัชราจารย์ผู้สืบทอดคำสอนของท่านอย่างเป็นทางการ พร้อมกับมอบธรรมสมบัติและคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้มากมาย
หลังจากที่ท่านเดินทางกลับมายังประเทศไทยในปี พ.ศ. 2479 ท่านได้สร้างสำนักสงฆ์ หลับฟ้า ที่สะพานอ่อนและเริ่มรับลูกศิษย์เพื่อรับการถ่ายทอดบทปฏิบัติของพุทธทิเบตอย่างต่อเนื่องตลอดมา ในปี พ.ศ. 2490 ท่านได้ริเริ่มการก่อสร้างวัดโพธิ์เย็น ที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นวัดจีนที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกพัทสีมาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งวัดโพธิ์เย็นแห่งนี้ได้รับการสร้างตามแบบศิลปะทิเบต มีการจารึกอักระคาถาเป็นภาษาธิเบตตามจุดต่างๆในบริเวณวัดอย่างพิศดาร อีกทั้งยังคงได้รับการรักษาอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2491 ท่านได้เดินทางไปยังประเทศจีนอีกครั้งตามคำเชิญของพระปรมัตตาจารย์เมี่ยวยิ้ว สังฆราชนิกายวินัยองค์ที่ 18 เพื่อเข้าพิธีรับมอบพระตำแหน่งเป็นพระปรมัตตาจารย์ประมุขนิกายวินัยองค์ที่ 19 สืบต่อจากท่าน
ปี พ.ศ. 2503-2512 ดำเนินการก่อสร้างวัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่รวบรวมศิลปะไทย จีนและทิเบตเข้าด้วยกันอย่างงดงาม และเป็นศูนย์กลางการปกครอง การเผยแพร่ พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง
ตลอดชีวิตของท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้ง ท่านได้สร้างคุณประโยชน์ต่างๆมากมายแก่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการแปลพระสูตร พระวินัยที่สำคัญสู่ภาษาไทย เพื่อให้พระภิกษุเชิ้อสายจีนได้ศึกษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท่านได้ช่วยเหลืออนุเคราะห์ผู้คนที่ตกยากมากมายในทุกๆรูปแบบ จนเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงจากคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะสมเด็จเถระนุเถระทุกพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์และเลื่อนสมณศักดิ์ให้แก่ท่านถึง 7 ครั้ง 7 วาระด้วยกัน จนครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ ท่านได้ดำรงสมณศักดิ์เป็น "พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนต วิเทศธรรมประสาท นวกิจพิลาสประยุกต์ ทำนุกจีนประชาวิสิฐ" เสมอด้วยพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ ท่านจึงเป็นพระมหาเถระชาวต่างชาติรูปแรกที่ได้รับพระราชทานเกียรติสูงเช่นนี้

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในทิเบตตะวันออก ได้อุปสมบทเมื่อมีอายุเพียง 5 ขวบที่วัดริโวเช ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่และมีประวัติอันยาวนาน ท่านบวชเรียนจนกระทั่งมีอายุ 17 ปีจึงได้รับสมณศักดิ์เป็นวัชราจารย์ พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการเอกของวัดริโวเช
ปี พ.ศ. 2502 วัดริโวเชได้ถูกทำลายลงโดยกองทัพปลดแอกประชาชนของจีน ท่านได้ถูกจำคุกอยู่เป็นเวลากว่า 1 ปี จึงได้หลบหนีออกจากที่คุมขังแล้วทำการเดินเท้าเปล่าข้ามเทือกเขาหิมาลัยออก มายังประเทศอินเดีย ท่านได้ศึกษาเรียนรู้จากพระอาจารย์ผู้บรรลุธรรมที่มีชื่อเสียง อาทิ ท่านดุดจุมริมโปเช ท่านดิลโกเคนเซริมโปเช ท่านนุกชูเคนริมโปเช ท่านลามะคุนู และท่านชัดเดาริมโปเช เป็นต้น ที่ท่านได้ติดตามเดินธุดงค์ แสวงบุญจำศีลไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาหลายปี สุดท้ายได้เข้าจำศีลภาวนากับท่านชัดเดาริมโปเช ณ ประเทศเนปาลอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน จนท่านชัดเดาริมโปเชได้ประกาศแต่งตั้งและรับรองให้เป็นพระอาจารย์ผู้สำเร็จ การปฏิบัติอทิโยคะอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยสันสกฤต ณ เมืองเบนนาเลย์
พ.ศ. 2525 ท่านได้จัดตั้งศูนย์อพยพริโวเชที่เมืองกาฐมาณฑุ พร้อมริเริ่มการก่อสร้างวัดริโวเชในประเทศเนปาล
พ.ศ. 2529 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเคนโปอาวุโส หรือพระอาจารย์ใหญ่แห่งวัดกาณิง เชดุปลิง ประเทศเนปาล
พ.ศ. 2531 ท่านได้ออกเดินทางไปยังประเทศแคนาดา ตามคำขอร้องของลูกศิษย์จำนวนมาก ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิริโวเชแห่งประเทศแคนาดาขึ้นเพื่อประสานงานช่วยเหลือ รักษาคำสอนและวัฒนธรรมแห่งทิเบตตะวันออก โดยเฉพาะคำสอนพุทธศาสนาของวัดริโวเช
พ.ศ. 2537 ท่านได้สร้างวัดริโวเช เปมาวัชระ ขึ้น ณ เมืองโตรอนโต เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเผยแพร่พุทธศาสนาวัชรยานในโลกตะวันตก ท่านได้เดินทางไปเทศนาธรรมยังศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆทั่วโลกอย่างไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อย รวมไปถึงประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ด้วย
พ.ศ. 2547 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่กิตติมศักดิ์ของวิทยาลัยสงฆ์ แห่งวัดกาต๊ก ดอร์เจเดน ณ แคว้นคาม ทิเบตตะวันออก

เป็นผู้สืบทอดสายการปฏิบัติ ชกจูร์ลิงปะ (Chok Gyur Lingpa Lineage) ของณิงมาปะ (Nyingma School of Early translation) ซึ่งเป็นนิกายโบราณของพุทธศาสนาวัชรยาน และดำรงตำแหน่งสังฆราชาของนิกาย ตักลุง การ์จู (Riwoche Taklung Kagyu Lineage) แห่งวัดริโวเช (Riwoche Monastery) ในทิเบตตะวันออก ท่านเป็นบุตรของ ชกลิง ริมโปเช (His Eminence Chokling Rinpoche) และดีเชน ปาลดรอน (Dechen Paldron) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2525 ที่ประเทศเนปาล ท่านเดินทางเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายๆประเทศทั่วโลกมายาวนานกว่า 10 ปี
ในปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
วัชราจารย์ของวัดกาณิง เชดรุป (Vajra Master: Ka-Nying Shedrub Ling Monastery) ที่โพธนาถ (Boudhanath) เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล
เจ้าอาวาสวัดโดงัก ญีดา ซุงเทรล เชดรุป รัลตรี (Abbot of Do-ngak Nyida Zungdrel Shedrab Raldri Ling Monastery) ประเทศเนปาล
เจ้าอาวาสวัดปัล การ์จู เชดรุป ตาชี ทาเกย์ พุนสก (Abbot of Pal Kagyu Shedrub Tashi Dhargye Phuntsok Ling Monastery) ประเทศเนปาล
ประธานของ รังจุง ยีชี เช็นเปน (President of Rangjung Yeshe Shenpen) อันเป็นองค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสด้านการศึกษาและสาธารณสุขในประเทศเนปาล
ศาสตราจารย์วิชาพุทธปรัชญา (Professor of Buddhist Philosophy) ที่สถาบันรังจุง ยีชี (Rangjung Yeshe Institute Shedra) ศูนย์พุทธศาสนศึกษา (Center of Buddhist Studies) มหาวิทยาลัยกาฐมัณฑุ (Kathmandu University) ประเทศเนปาล ท่านสอนพุทธปรัชญาทั่วไป โดยเฉพาะปรัชญามาธยมิกะ (The Middle Way)
ประวัติการศึกษา
ได้รับวุฒิทางการศึกษาระดับ "เคนโป (mKhan po)" ซึ่งเทียบเท่าปริญญาเอก (Ph.D.) ทางศาสนวิทยา (Doctor of Divinity) จากองค์สมเด็จดาไลลามะที่ 14 (His Holiness 14th Dalai Lama) และจาก จงซาร์ เคียนเซ ริมโปเช (H.E. Dzongzar Khyentse Rinpoche)
จบการศึกษาหลักสูตรพุทธปรัชญาที่สถาบันการศึกษาพุทธศาสนาชั้นสูงจงซาร์ (Dzongsar Institute of Advanced Buddhist Studies) ที่เมืองบีร์ (Bir) มณฑลหิมาจัล (Himachal Pradesh) ประเทศอินเดีย ซึ่งเน้นการศึกษาธรรมะของสายสาเกียปะ และคำสอนชั้นสูงของณิงมาปะ กับเคนเชน กุงกา วังชุก ริมโปเช (Khenchen Kunga Wangchuk Rinpoche) และจงซาร์ เตียนเซ ริมโปเช (H.E. Dzongsar Khyentse Rinpoche) ซึ่งท่านใช้เวลาศึกษาจนสำเร็จเพียงแค่ 7 ปี จากหลักสูตร 9 ปี
งานเผยแผ่
วิทยากรรับเชิญบรรยายธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลายแห่งในประเทศต่างๆทั่วโลก อาทิ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเยอรมันนี ประเทศออสเตรีย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศบราซิล และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯล